preloader

Blog

ข้อควรรู้ เกี่ยวกับการ รักษารากฟัน ก่อนจะสายเกินไป

ข้อควรรู้ เกี่ยวกับการ รักษารากฟัน ก่อนจะสายเกินไป

ข้อควรรู้ เกี่ยวกับการ รักษารากฟัน ก่อนจะสายเกินไป

การรักษารากฟัน คือวิธีรักษาการติดเชื้อในโพรงประสาทฟันจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ภายในปากและบุกรุกเข้าไปเมื่อเกิดฟันผุ ฟันเป็นรู หรืออุบัติเหตุต่อฟันที่ทำให้เนื้อฟันแตก หัก และเสียหาย การรักษาด้วยวิธีนี้ช่วยรักษารากฟันโดยไม่จำเป็นต้องถอนฟันออกไป

สัญญาณบ่งบอกว่าควรรักษารากฟัน

เมื่อโพรงประสาทฟันติดเชื้อจนอาจทำให้เกิดหนองที่ปลายรากฟัน ตามมาด้วยความเจ็บปวด และยังอาจลุกลามไปสู่ฟันซี่อื่น ๆ การรักษารากฟันด้วยการนำเอาโพรงประสาทฟันที่อยู่กลางฟันออก และใช้วัสดุเติมโพรงที่ว่างเปล่าจะช่วยหยุดการติดเชื้อ ลดอาการปวดฟัน และทำให้ฟันซี่นั้นยังคงอยู่ต่อไปได้

โพรงประสาทฟันคือฟันชั้นกลางที่อยู่ถัดเข้าไปจากชั้นเนื้อฟันและชั้นเคลือบฟันที่อยู่นอกสุด ประกอบไปด้วยหลอดเลือด เส้นประสาท และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ทำหน้าที่พยุงอวัยวะให้คงรูป โพรงประสาทนี้ยังมีหน้าที่ช่วยในการเติบโตของฟัน แต่เมื่อฟันพัฒนาอย่างเต็มที่แล้ว เนื้อเยื่อรอบ ๆ ฟันจะทำหน้าที่หล่อเลี้ยงบำรุงฟันต่อไป การรักษารากฟันด้วยการนำโพรงประสาทฟันออกไปจึงไม่ส่งผลต่อการทำหน้าที่ของฟันแต่อย่างใด

การรักษารากฟันนั้นช่วยให้การเคี้ยวกลับมามีประสิทธิภาพที่ดีเหมือนเคย สามารถกัดอาหารได้อย่างปกติ ลักษณะรูปร่างของฟันกลับมาสวยงาม และยังป้องกันไม่ให้ฟันซี่อื่นถูกทำร้ายไปด้วย แต่หากไม่ได้รับการรักษารากฟัน ก็อาจทำให้ฟันซี่นั้นเสียหายจนต้องถอนฟันทิ้ง ซึ่งการถอนฟันที่ไม่มีการใส่ฟันปลอมทดแทนจะทำให้ฟันเคลื่อนย้าย ฟันมีปัญหา การกัดหรือเคี้ยวอาหารทำได้ลำบาก และยังยากต่อการทำความสะอาดช่องปาก เป็นสาเหตุให้เกิดโรคเหงือกได้ในที่สุด

รักษารากฟัน

อาการของโพรงประสาทเสียหายและติดเชื้อที่เป็นสัญญาณแสดงว่าควรได้รับการรักษารากฟันมีดังนี้

เจ็บเวลาเคี้ยวหรือกัดอาหาร
เสียวฟันเมื่อดื่มเครื่องดื่มที่ร้อนหรือเย็น
ฟันหลวมหรือโยก
อาการบวมและนิ่มลงของเหงือกบริเวณฟันที่ติดเชื้อ
มีน้ำหนองไหลจากฟันที่ติดเชื้อ หรือมีตุ่มหนองขึ้นบนเหงือก
สีของฟันคล้ำลง
หน้าบวม
การรักษารากฟันทำได้ทุกกรณีหรือไม่

โดยมากการรักษารากฟันมักสามารถทำได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นในกรณีที่ทันตแพทย์ไม่สามารถเข้าถึงบริเวณรากฟันได้ รากฟันแตกหักอย่างรุนแรง ฟันที่มีอาการของโรคปริทันต์ร่วมด้วย หรือไม่อาจรักษาตัวฟันไว้ได้ ทำให้จำเป็นต้องใช้การรักษารากฟันด้วยวิธีทางศัลยกรรมหรือการผ่าตัดรากฟันหรือถอนฟันออกไปแทน

การเตรียมตัว

ก่อนการลงมือรักษารากฟัน ทันตแพทย์อาจถ่ายภาพเอกซเรย์ฟันซี่ที่จะทำการรักษา เพื่อให้เห็นภาพของรากฟันบริเวณที่ได้รับความเสียหายได้อย่างชัดเจน รวมถึงพิจารณาว่ามีการติดเชื้อรอบ ๆ กระดูกบริเวณดังกล่าวหรือไม่ จากนั้นจึงฉีดยาชาเฉพาะที่ในกรณีที่จำเป็น แล้วรอให้ชาจนทั่ว เพื่อให้เหงือก ฟัน ลิ้น รวมถึงผิวหนังบริเวณดังกล่าวไร้ความรู้สึก และไม่เกิดความรู้สึกเจ็บหรือระคายเคืองระหว่างการรักษารากฟัน แต่ผู้ป่วยที่โพรงประสาทฟันตายหมด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีอุบัติเหตุที่มีการกระแทกของฟันรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยไม่มีความรู้สึกที่บริเวณดังกล่าวอีกต่อไปนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ยาชา แต่แพทย์ก็มักฉีดให้เพื่อความสบายใจและรู้สึกปลอดภัยของผู้ป่วย

วิธีรักษารากฟัน

การนำเอาโพรงฟันออกมา การรักษารากฟันเริ่มด้วยการวางแผ่นยางกั้นน้ำลายไว้รอบฟันซี่ที่จะรักษารากฟัน เพื่อให้บริเวณดังกล่าวสะอาด และยังเป็นการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดจากวัสดุที่ใช้รักษาหรือน้ำยาล้างคลองรากฟันไหลลงคอผู้ป่วย จากนั้นจึงใช้เครื่องมือเจาะตรงส่วนบนของฟันเพื่อนำเอาเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันที่ติดเชื้อออกมา หากมีหนองใต้โพรงฟันก็จะนำออกมาในคราวเดียวกัน

การทำความสะอาดและเติมโพรงฟัน ขั้นตอนต่อไปคือการล้างทำความสะอาดและใช้เครื่องมือขยายโพรงประสาทฟันให้กว้างขึ้น เพื่อให้สามารถเติมเต็มช่องว่างนี้ได้ง่าย ซึ่งฟันแต่ละซี่มีรากฟันจำนวนไม่เท่ากันอาจมีตั้งแต่ 1-3 ซี่ ยิ่งมีจำนวนรากมากก็ยิ่งต้องใช้เวลานานขึ้น ขณะที่ฟันถูกเปิดเป็นช่องทางเพื่อให้เข้าไปทำความสะอาดโพรงรากนี้ หากเนื้อเยื่อฟันที่อักเสบยังหลงเหลืออยู่จะถูกกำจัดออก และสำหรับการรักษารากฟันที่ไม่สามารถทำจนเสร็จได้ในครั้งเดียว ทันตแพทย์จะปิดโพรงฟันไว้ด้วยวัสดุอุดฟันชั่วคราว โดยอาจใช้ยาฆ่าเชื้อใส่ลงไปในบริเวณรากฟันร่วมด้วย ในระหว่างใส่วัสดุอุดฟันชั่วคราวนี้ หากพบว่าเกิดอาการจากการติดเชื้อ โดยอาจมีไข้ขึ้นสูง หรืออาการบวมหนัก สามารถบรรเทาได้ด้วยยาปฏิชีวนะที่ยังช่วยป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย

การปิดโพรงประสาทฟันและใส่ครอบฟัน หลังจากการพบทันตแพทย์ครั้งก่อนที่โพรงฟันถูกปิดแบบชั่วคราวไว้ ครั้งต่อมาจะเป็นการนำเอายาและวัสดุเติมเต็มชั่วคราวที่ใส่ไว้ตั้งแต่ครั้งก่อนออก แล้วใส่วัสดุเติมรากฟันให้โพรงประสาทฟันปิดสนิทและป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ ฟันที่โพรงประสาทฟันถูกนำออกไปนี้อาจเป็นสาเหตุให้ฟันซี่นั้นแตกหักได้ง่าย เนื่องจากเมื่อไม่มีเส้นประสาทคอยรับรู้ความเจ็บปวดแล้ว หากเกิดการอักเสบของฟัน จะทราบได้ก็ต่อเมื่อฟันเสียหายไปมากแล้ว การใส่ครอบฟันจึงเป็นอีกสิ่งจำเป็นในการป้องกันฟันผุหรือการแตกหักของฟันที่ทันตแพทย์อาจแนะนำ ซึ่งที่ครอบฟันนี้อาจทำมาจากวัสดุชนิดโลหะ กระเบื้อง หรือเซรามิก เป็นต้น ก่อนการสวมที่ครอบฟัน ฟันซี่ดังกล่าวจะถูกกรอตกแต่งให้เล็กลงอีกนิดเพื่อให้ใส่เข้ากับที่ครอบที่ถูกหล่อขึ้นมาอย่างพอดีกับรูปร่างและขนาดของฟัน เมื่อที่ครอบฟันพอดีกับฟันที่ถูกตกแต่งดีแล้วจึงยึดติดเข้าด้วยกันโดยใช้ปูนสำหรับอุดฟัน ทว่าหากมีเนื้อฟันเหลือน้อยมากหลังจากการรักษารากฟัน ก็อาจจำเป็นต้องใช้หลักยึดติดไว้กับคลองรากฟันเพื่อให้ที่ครอบฟันติดกับฟันอย่างมั่นคง